วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

ป่าชุมชนบ้านห้วยใหญ่ชุมพร เป็นป่าดงดิบก่อนพายุเกย์ พบไม้ตะเคียนอายุกว่า 100 ปี เป็น 1000 ต้น

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่  30  มี.ค.  2559  เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ นำโดยนายนพรัตน์ สัมฤทธิ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11( สุราษฎร์ธานี) ผู้นำชุมชนโดยนาย สุพจน์ เก็บเกียรติไว้  ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ ประธานป่าชุมชนบ้านห้วยใหญ่  เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าชุมพร  เจ้าหน้าที่จากสถานีควบคุมไฟป่าจังหวัดชุมพร นำโดยนายชัยสันติ์  ศรียาภัย หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าชุมพร  เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง นำทีมโดยนางอรุณี คำหอม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง  ได้ร่วมกันสำรวจ ป่าชุมชนดีเด่น ที่บ้านห้วยใหญ่ ม.2 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ซึ่งป่าชุมชนแห่งนี้มีต้นตะเคียนยักษ์อายุ 100-200 ปี จำนวนเกือบ 1,000 ต้น ที่รอดพ้นจากภัยพิบัติ สมัยพายุไต้ฝุ่นเกย์  และยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก  กรมป่าไม้และด้านท้องถิ่นเตรียมผลักดันเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในพื้นที่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร 



เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา  นายนักรบ  ณ ถลาง นายอำเภอท่าแซะ จ.ชุมพร เคยได้มาสำรวจพื้นที่ดังกล่าว พร้อมเปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากชาวบ้านห้วยใหญ่ หมู่ 2 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ว่า พบต้นไม้ใหญ่เป็นต้นตะเคียนโบราณขนาดใหญ่กว่า 1,000 ต้น ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านห้วยใหญ่ พื้นที่รอยต่อ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และประเทศพม่า จึงเดินทางไปตรวจสอบโดยนั่งรถยนต์โฟร์วีล จากนั้นต้องเดินเท้าเข้าไปอีกร่วม 2 ชั่วโมง เมื่อไปถึงก็ต้องตกตะลึง เพราะความใหญ่โตของต้นตะเคียนที่มีอยู่กว่า 1,000 ต้น บางต้นมีขนาดใหญ่ถึง 4-5 คนโอบ  โดยจุดที่ตั้งป่าชุมชนบ้านห้วยใหญ่อยู่ห่างจาก ถนนเพชรเกษมประมาณ 12  กิโลเมตร เขตรอยต่อกับ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยฝืนป่าดังกล่าวอยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาที่มีความสูงประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเล เมื่อขึ้นถึงยอดจะมองเห็นทะเลอ่าวไทยทางด้านตะวันออก และเทือกเขาใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งตามแนวสันเขาจะพบต้นตะเคียนขนาดใหญ่ขึ้นเรียงรายอยู่จำนวนมาก  ในขณะนี้มีหลายฝ่ายได้ร่วมเข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ ผู้นำท้องถิ่น และเริ่มมีผู้คนสนใจเข้ามาท่องเที่ยว ศึกษาธรรมชาติของนักเรียน นักศึกษา มากขึ้น




บนพื้นที่มีลานจอด เฮลิคอปเตอร์




นายอำเภอท่าแซะ



เส้นทางในการเข้าไปในพื้นที่ตรงนี้อาจจะยังลำบากอยู่บ้างเพราะเป็นพื้นที่สูงชันจำเป็นต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ   (โฟร์วีล) ในการเดินทาง   แต่หากไม่มีรถโฟร์วีล ก็สามารถเดินเท้าได้แต่อาจจะใช้เวลาสักนิดหน่อย




  

 เส้นทางอาจจะลำบากสักนิดในการเข้ามาในป่าชุมชนแห่งนี้  แต่เชื่อว่าหากท่านขึ้นไปถึงพื้นที่ แล้วท่านจะหายเหนื่อยเลยทีเดียว เพราะสิ่งแรกที่ท่านจะได้สัมผัส ก็คืออากาศที่เย็นสดชื่น พร้อมได้ชมทิวทัศน์อันสวยงาม  และกว้างใหญ่ มองเห็นพื้นที่ด้านล่าง พร้อมเห็นทะเลหมอกหากเป็นช่วงหน้าหนาว



ที่ทำการป่าชุมชนบ้านห้วยใหญ่ 



และเมื่อเดินเข้าไปในพื้นที่ป่าจะเจอกับไม้นานาชนิด มีทั้งไม้ใหญ่ ไม้ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และไม้พื้นล่าง ต่างๆมากมาย และอากาศเย็นสบาย ทั้งที่ด้านล่างก่อนที่จะขึ้นมานั้นอากาศร้อนอบอ้าว  นี่แค่มีป่าซึ่งพื้นที่ไม่ได้มากมาย มีเพียง 6 - 7 ร้อยกว่าไร่เท่านั้น ลองคิดดูหากเป็นพื้นที่ที่เป็นป่ามากๆ ความชุ่มชื้นก็ต้องยิ่งมากตาม ส่งผลให้เกิดน้ำซับลงดิน ก็จะกลายเป็นน้ำตกได้เลย   ป่าใหญ่แบบนี้ทำให้เกิดวามชุ่มชื้น แม้ในช่วงฤดูแล้งขณะนี้ไม้เล็ก ไม้พื้นล่างยังเขียวชะอุ่ม   จุดเด่นของป่าชุมชนแห่งนี้ คือต้นไม้ใหญ่ที่ยังหลงเหลือรอดพ้นจากพายุใต้ฝุ่นเกย์ ที่เกิดขึ้น เมื่อปี 2532 ซึ่งต้นไม้ที่เห็นเหล่านี้ใช่ว่าสร้างได้ในวันสองวัน จำเป็นต้องใช้เวลา เป็นร้อยเป็นพันปี จึงจะโตให้เราได้เห็นอยู่ถึงขนาดนี้  และในพื้นที่อำเภอท่าแซะสภาพป่าดิบชื้น และป่าที่ต้นไม้ใหญ่เดิมๆ แบบนี้ แทบจะไม่มีแล้ว























และที่พิเศษอีกอย่างก็คือ ป่าชุมชนแห่งนี้มีพืชผัก ผลไม้ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ นำไปทำเป็นอาหาร และเครื่องใช้สอย ร่วมกันของคนในชุมชน เช่นลูกเหรียง และ อีกฯลฯ ซึ่งจากคำบอกเล่าของ นายนพรัตน์ สัมฤทธิ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 11( สุราษฎร์ธานี) ว่า ปีหนึ่งๆ ชาวบ้านสามารถทำรายจากต้นเหรียงเกือบ 2 แสนบาท ซึ่งต้นเหรียงนั้นมีอยู่หลายต้นในป่าชุมชนแห่งนี้ และยังมีผลผลิตจากป่าอีกมายที่สามารถทำรายได้ และจุนเจือครอบครัวของคนในพื้นที่ตรงนี้ แต่ก็จำเป็นต้องมีการทดแทน 









  
วันนี้เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง นำทีมโดยนางอรุณี คำหอม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง  ได้ร่วมกันสำรวจป่าชุมชนแห่งนี้ จัดทำป้ายชื่อของไม้แต่ละต้นเพื่อจะได้ทำศึกษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งป่าชุมชนแห่งนี้มีต้นตะเคียน อยู่จำนวน  1,000 ต้น ในพื้นที่ 600 กว่าไร่ ที่สำคัญ คือ ต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นไม้ ประเภท ตะเคียน เช่น ตะเคียนทอง ตะเคียนทราย ตะเคียนหิน ตะเคียนสามพอน ตะเคียนใบเขียว เป็นต้น ซึี่งบางต่้นมีขนาดใหญ่ 4-5 คนโอบ 

































นายนพรัตน์ สัมฤทธิ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน กล่าวอีกว่า  หลังจากจังหวัดชุมพร ประสบภัยพิบัติพายุไต้ฝุ่นเกย์เมื่อ พ.ศ.2532 ป่าสงวนแห่งชาติในเขตอำเภอท่าแซะถูกพายุพัดหักโค่น และตายไปเป็นจำนวนมาก ตนเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ขณะนั้น ได้ออกสำรวจความเสียหาย จากพายุพบว่าพื้นที่ป่าบ้านห้วยใหญ่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของคลองท่าแซะ ต้นไม้ขนาดใหญ่ยังเหลืออยู่สมบูรณ์ อาจจะถูกแรงลมพัดกิ่งหักไปบ้างแต่ต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่ถูกทำลายโดยเฉพาะต้น ตะเคียนดังกล่าว ตนจึงได้ร่วมกับ กำลังทหาร เจ้าหน้าที่ปกครอง และผู้นำชุมชน พยายามรักษาป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้ เพราะเป็นป่าสมบูรณ์จริงๆ ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียว ในเขตอำเภอท่าแซะ ความพยายามที่มีมากว่า 27 ปี ทำให้ป่าชุมชนบ้านห้วยใหญ่ยังคงเป็นป่าที่ทางกรมป่าไม้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน เมื่อปี 2551 มีผู้นำชุมชนเป็นกรรมการ ดูแลรักษาป่าไม่ให้ถูกบุกรุกและป่าชุมชนแห่งนี้ เคยได้รับรางวัลป่าชุมชนดีเด่น ในระดับจังหวัดของจังหวัดชุมพรมาแล้วนายนพรัตน์ กล่าว

ด้านนายสุพจน์ เก็บเกียรติไว้ ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยใหญ่ และในฐานะประธานป่าชุมชนแห่งนี้กล่าวว่า ป่าตะเคียนบ้านห้วยใหญ่ที่เหลืออยู่ เหมือนปาฏิหาริย์จริงๆ เพราะรอดพ้นจากพายุขนาดใหญ่มาได้ ถ้าศึกษาจากประวัติศาสตร์แล้ว จ.ชุมพร เคยประสบพายุขนาดใหญ่มาหลายครั้ง ในรอบ 60 ปีจะเกิดครั้งหนึ่ง ถ้าดูจากต้นตะเคียนแต่ละต้นแล้ว อายุน่าจะไม่ต่ำกว่า 200 ปี เมื่อครั้งเกิดพายุเกย์ ลำต้นก็มีขนาดพอๆ กับที่เห็น แต่ก็ไม่ถูกพายุทำลาย เนื่องจากลักษณะทางภูมิประเทศ เป็นภูเขาขนาดใหญ่ล้อมรอบ มีป่าอยู่ตรงกลาง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ความตั้งใจจริงของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หน่วยทหาร และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ที่ได้ร่วมกันรักษาต้นไม้ไม่ให้ถูกตัดโค่น และไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่ มีแนวเขตที่ชัดเจน ป่าตะเคียนบ้านห้วยใหญ่จึงรอดมาได้

             นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ชาวบ้านต้องการเปิดเผยเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีอิทธิพลของนักการเมืองท้องถิ่น นายทุนบางกลุ่ม พยายามเข้าไปแทรกซึม เพื่อต้องการนำไม้เหล่านี้ออกมา จึงต้องให้สังคมได้รับทราบจะได้ช่วยกันเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานต่อไป. 






โพสต์แนะนำ

พบเห็น !! การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โปรดแจ้งสายด่วน ชุด ฉก.พญาเสือ โทร. 097-281-6363

พบเห็นการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โปรดแจ้งสายด่วน  ชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุ...