วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สาเหตุการไฟป่าที่อินโดนีเซีย และทำไมไม่ดับซะที

สาเหตุการไฟป่าที่อินโดนีเซีย และทำไมไม่ดับซะที
(เครดิตภาพ-Nasa)










หมอกควันจากไฟป่าในอินโดนีเซียก่อให้เกิดปัญหาในเชิงสภาพแวดล้อมและปัญหาด้านสุขภาวะไม่เพียงแต่กับผู้คนในอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปจนถึงประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงทางตอนใต้ของประเทศไทยเราอีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วเรามักเข้าใจกันว่าไฟป่าอินโดนีเซีย เกิดขึ้นจากไฟที่จุดเพื่อเผาพืชไร่ที่เพาะปลูกกันไว้แล้วลุกลามกลายเป็นไฟเผาป่า แต่ในความเป็นจริงธรรมชาติของไฟป่าที่อินโดนีเซีย มีลักษณะบางอย่างที่พิเศษมากกว่านั้น จนทำให้ได้ชื่อว่าเป็นไฟป่าที่ "ดับยากที่สุด" และ "คุกรุ่นอยู่ได้นานที่สุด" ส่วนใหญ่แล้วมักจะกินเวลาหลายเดือน กว่าจะดับได้สนิทจริงๆ ต้องอาศัยฟ้าฝนในหน้ามรสุมมาช่วยจึงสามารถดับได้สนิททั่วพื้นที่

ปัญหาที่ทำให้ไฟป่าที่อินโดนีเซียมีลักษณะพิเศษดังกล่าว เป็นเพราะพื้นที่ซึ่งเกิดไฟป่า ซึ่งมักเป็นพื้นที่บนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว เป็นหลักนั้น เป็นพื้นที่ป่าแบบป่าพรุ ที่มีการสะสมของ "พีต" ซึ่งบางทีก็เรียกกันว่า "ถ่านหินเลน" อยู่เป็นจำนวนมาก

"พีต" เป็นลำดับเบื้องต้นของกระบวนการการแปรสภาพจากอินทรียสารกลายเป็นถ่านหิน มันเกิดขึ้นจากเศษชิ้นส่วนของซากพืชที่สะสมในที่ลุ่มชื้นแฉะตามแนวที่ลุ่มชื้นแฉะบริเวณชายฝั่งของสุมาตราและบอร์เนียว ทำให้มีความชื้นสูง เนื้อเซลลูโลสของซากพืชต่างๆ ถูกแบคทีเรียและเชื้อราแปรสภาพเป็นอินทรียวัตถุและก๊าซมีเทน แต่ยังปรากฏลักษณะซากพืชต่างๆ ให้เห็นอยู่ภายในเนื้อ มีคาร์บอนประกอบอยู่ราว 60 เปอร์เซ็นต์ และออกซิเจนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อแห้งจะติดไฟได้ดี

ไฟจากการเผาไหม้ "ถ่านหินเลน" ดังกล่าวนี้เริ่มต้นเมื่อชาวบ้านในพื้นที่ "เผาป่า" เพื่อแผ้วถางพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันและอะคาเชีย เพื่อใช้ทำเยื่อกระดาษ หรือไม่ก็เป็นการทำลายพืชเพาะปลูกในฤดูกาลเดิม เพื่อเริ่มต้นการทำไร่รอบใหม่ ทั้งสองอย่างก่อให้เกิดไฟลุกลามไปติดเอาแหล่งถ่านพีตที่เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในหน้าแล้ง

เดวิด กาโว นักวิชาการจากศูนย์วิจัยป่าไม้ระหว่างประเทศ ระบุว่า ไฟที่ลุกลามไปติดแหล่งถ่านพีตจะดูเหมือนหลบลงไปคุกรุ่นอยู่ใต้ดินได้ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งที่มาของไฟป่าไม่มีที่สิ้นสุด
นอกจากนั้น ไฟป่าที่เกิดจากถ่านพีต หรือที่เรียกกันว่า "พีตไฟร์" ยังก่อให้เกิดควันมากกว่าปกติ และเป็นไฟชนิดที่ก่อให้เกิดมลพิษได้มากที่สุดในบรรดาไฟป่าทุกรูปแบบ (เช่น บุชไฟร์ ในออสเตรเลีย หรือไฟป่าที่เกิดจากต้นไม้ในป่าถูกเผาในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น)

นักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามไฟป่าในอินโดนีเซียกำลังเป็นกังวลว่า ปัญหานี้จะยิ่งเลวร้ายมากในปีนี้ เนื่องจากสภาวะ "เอลนิโญ" ที่รุนแรงซึ่งเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้งยาวนานกว่าปกติและมีฝนน้อยกว่าปกติ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 1997 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเอลนิโญรุนแรงเช่นเดียวกัน ไฟป่าในอินโดนีเซียลุกลามกว้างขวางมากและปล่อยมลภาวะสู่อากาศ เช่นเดียวกับก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นสถิติสูงสุด
ข้อมูลจากการตรวจสอบด้วยดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าปีนี้น่าจะแย่ในระดับเดียวกันหรือมากกว่าปี 1997 ในเวลานี้ที่สถานีตรวจสอบบางแห่งในสิงคโปร์และสุมาตรา พบว่าสภาพใกล้เคียงปี 1997 เข้าไปทุกทีแล้ว ทัศวิสัยบางจุดแย่ลงเหลือไม่ถึง 1 กิโลเมตรต่อเนื่องเป็นสัปดาห์แล้ว ที่กาลิมันตันเหลือเพียง 50 เมตรเท่านั้นเอง

ในส่วนของอนุภาคแขวนลอยในอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ พบว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2006 ซึ่งเป็นปีที่ปริมาณอนุภาคแขวนลอยที่เป็นมลพิษเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุด และเกิดขึ้นก่อนการเกิดภาวะเดียวกันในปี 2006 หลายสัปดาห์ แสดงว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของไฟป่าในอินโดนีเซียเลยทีเดียว
เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะปีนี้มีไฟป่าเกิดขึ้นมากจุดกว่าและแต่ละจุดมีขนาดใหญ่กว่าที่ผ่านมานั่นเอง

ที่มา..มติชนออนไลน์ที่มา..มติชนออนไลน์

โพสต์แนะนำ

พบเห็น !! การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โปรดแจ้งสายด่วน ชุด ฉก.พญาเสือ โทร. 097-281-6363

พบเห็นการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โปรดแจ้งสายด่วน  ชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุ...