วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2560

กรมป่าไม้ขยายผล “หุบเขาไฮโซ” รุกป่า พร้อมเร่งจัดการกลุ่มซิปไลน์ผิด กม. ลงพื้นที่ตรวจสอบพิกัดผืนป่าที่ถูกบุกตาม App “พิทักษ์ไพร”

วันนี้ (23  กันยายน  2560)  ในพื้นที่รับผิดชอบสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) 
นายชลธิศ  สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้  พร้อมนายอรรถพล  เจริญชันษา  รองอธิบดีกรมป่าไม้  ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า  และหัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร  นายชีวะภาพ  ชีวะธรรม  ลงพื้นที่ร่วมกับ ศปป. 4  กอ.รมน.  เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร  ฝ่ายปกครอง  และผู้นำท้องถิ่น  เพื่อติดตามการปฏิบัติงานเชิงรุกในการบังคับใช้กฎหมายกับสถานที่พักตากอากาศ รีสอร์ท  และสิ่งปลูกสร้างที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขนิน  ต.น้ำแพร่  อ.หางดง  และเข้าดำเนินคดีกับผู้ประกอบการธุรกิจซิบไลน์ที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ออน  บ้านแม่กำปอง  ต.ห้วยแก้ว  อ.แม่ออน   จ.เชียงใหม่  พร้อมกับตรวจสอบความแม่นยำถูกต้องของ App "พิทักษ์ไพร"  ในการลงพิกัดผืนป่าที่ถูกบุกรุก






นายชลธิศ  สุรัสวดี  อธิบดีกรมป่าไม้  เปิดเผยถึงกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ท่าช้างและป่าแม่ขนิน ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่  เพื่อปลูกสร้างสถานที่พักตากอากาศ  รีสอร์ท และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ว่าจากการตรวจสอบพบรีสอร์ทที่บุกรุกพื้นที่ป่า  จำนวน  18  ราย  เนื้อที่รวมประมาณ  144  ไร่  2  งาน  60  ตรว.  ซึ่งมีรีสอร์ทที่มีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน  จำนวน  11  แปลง  เนื้อที่  47  ไร่  3  งาน  5  ตรว.  เป็น  น.ส.3  จำนวน     1  แปลง  2  ไร่  1  งาน  19  ตรว.  และเป็นพื้นที่ที่เคยสำรวจการถือครองตามมติ ครม.  30  มิ.ย. 2541 จำนวน   8  แปลง  เนื้อที่  41  ไร่  2  งาน  47  ตรว.  นอกจากนี้  ยังพบว่าเป็นพื้นที่ประเภทอื่น ๆ อีก  8  แปลง  ดังนั้น  สำหรับรายใดที่มีโฉนด  หรือ  น.ส.3  กรมป่าไม้จะส่งเรื่องให้กรมที่ดินตรวจสอบว่าการออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ส่วนพื้นที่ที่สำรวจการถือครองตามมติ  ค.ร.ม.  30  มิ.ย.  2541  จะต้องตรวจสอบว่ามีการเปลี่ยนชื่อผู้แจ้งการครอบครองหรือไม่  หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงจะถือว่าผิดเงื่อนไขจากการสำรวจในคราวแรกแต่ถ้ามีชื่อตรงตามที่แจ้งในคราวแรกก็ต้องตรวจสอบว่ามีการใช้ประโยชน์ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่





ด้านนายอรรถพล  เจริญชันษา  รองอธิบดีกรมป่าไม้  กล่าวถึงความคืบหน้าในการบังคับใช้กฎหมาย ต่อกลุ่มเครื่องเล่นซิปไลน์ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า จากการตรวจสอบปรากฏว่ามี  12  แห่งที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ได้แก่  1) สกายไลน์แอดแวนเจอร์  2) ดรากอนไฟล์ทเชียงใหม่ ซิปไลน์  3) จังเกิ้ลไฟล์ท เชียงใหม่  4) ไฟล์ทออฟเดอะกิบบอน  5)เดอะไจแอนท์เชียงใหม่  6) ไทยจังเกิ้ล  7) ฟลายอิ้งสควอเรียส  เชียงใหม่   8) ม่อนแจ่มซิปไลน์  9) ซิปไลน์  เชียงใหม่  10) ทาร์ซาน คาโนปี้  11) ปางช้างแก่งกื๊ด  (พ่อหลวงน้อยปัน)   และ   12)  สกายเทรคแอดแวนเจอร์  ซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว  6  แห่ง  โดย  2  ใน  6  แห่ง  ได้ดำเนินการรื้อถอนตามมาตรา  25  แล้ว  อีก  5  แห่ง  อยู่ในระหว่างขบวนการตรวจสอบ  เนื่องจากผู้ประกอบการได้นำเอกสารสิทธิที่ดินประเภท  ส.ค.1 มาแสดง  ส่วนอีก  1  แห่ง  คือ  "ไฟล์ทออฟเดอะกิบบอน"  ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ   ป่าแม่ออน  บ้านแม่กำปอง  ม. 3  ต.ห้วยแก้ว  อ.แม่ออน  จ.เชียงใหม่  เนื้อที่รวม  29  ไร่  3  งาน  78  ตรว. นั้น ได้มีมติที่ประชุมของคณะกรรมการเพื่อติดตาม  กำกับ  และตรวจสอบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัยต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว  ครั้งที่ 1/2560  เมื่อวันที่  7 กันยายน  2560  ที่มีนายประจวบ  กันธิยะ  รองผู้ว่าราชการ  จังหวัดเชียงใหม่ทำหน้าที่เป็นประธานแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  ให้หน่วยงานดำเนินคดีในส่วนพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน  จำนวน  3  งาน  78  ตรว.  สำหรับพื้นที่อีก  29  ไร่  ที่ผู้ประกอบการอ้างว่ามี  ส.ค. 1  จำนวน  3  ฉบับ  ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบว่า  ส.ค.1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่





นายชีวะภาพ  ชีวะธรรม  หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร)  เปิดเผยถึงการปฏิบัติการเข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าด้วยระบบปฏิบัติการค้นหาพื้นที่บุกรุกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และดาวเทียม  หรือที่เรียกว่า  ระบบพิทักษ์ไพร  ว่า  ขณะนี้ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่เราได้รับแจ้งเตือนจากระบบตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงจากสภาพป่าเป็นไม่มีสภาพป่า  จำนวน  8  จุด  ได้แก่  ป่าเชียงดาว  จำนวน  4  จุด  ป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง  จำนวน  2  จุด  และป่าแม่ขานและป่าแม่วาง  2  จุด  ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบว่ามีผืนป่าถูกบุกรุกหรือไม่อย่างไร  โดยในวันนี้เราจะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ในเขตป่าเชียงดาว  อ.เวียงแหง  จ.เชียงใหม่  เป็นลำดับแรก  แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเส้นทางทุรกันดารและเขตภูเขาสูงชัน ทางเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติการ ทั้งทางรถยนต์ตรวจการขับเคลื่อน  ล้อ  และทางอากาศสนับสนุนกัน  ทั้งนี้  เพื่อเร่งป้องปรามหากมีการบุกรุกทำลายป่าจริงได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์.

ไม่มีความคิดเห็น:

โพสต์แนะนำ

พบเห็น !! การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โปรดแจ้งสายด่วน ชุด ฉก.พญาเสือ โทร. 097-281-6363

พบเห็นการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โปรดแจ้งสายด่วน  ชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุ...