วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

"บิ๊กเต่า" สั่งคุมเข้ม ! สวนยางนายทุนจ้างชาวบ้านนอกพื้นที่เข้ามาหาผลประโยชน์ พื้นที่ผิดกฎหมาย

บิ๊กเต่าสั่งคุมเข้มสวนยางของนายทุนที่ผิดกฎหมาย หลังชุดพยัคฆ์ไพรตรวจพบมีการจ้างชาวบ้านนอกพื้นที่เข้ามาหาผลประโยชน์ พร้อมประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งผู้นำท้องถิ่นช่วยตรวจตราร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้



ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้พร้อมด้วยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร สนธิกำลังศูนย์การประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ศปป.4 กอ.รมน.) นำโดย พันเอกพงษ์เพชร เกษสุภะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบสวนยางพาราของนายทุนรายใหญ่ ในเขตพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูเปือย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ ท้องที่ตำบลศิลา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ หลังชุดการข่าวแจ้งว่า มีบุคคลเข้ามาลักลอบกรีดยางพารา ทั้งที่สวนยางดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้







ปฏิบัติการครั้งนี้เป้าหมายคือสวนยางหลังบ้านหนองเขียว เนื้อที่หลายร้อยไร่บนเนินเขาที่มีความสูงชัน จากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบแคมป์คนงาน 5 หลัง ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นของนายสุริน สีหสกุล ชาวอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่จึงขอเข้าตรวจค้นภายในที่พัก พบเลื่อยโซ่ยนต์ 1เครื่อง พร้อมอาวุธปืนไทยประดิษฐ์อีก 3 กระบอกบริเวณที่นอน แต่เมื่อตรวจสอบโดยละเอียดพบอุปกรณ์การทำสวนยางภายในโรงเก็บของหลายรายการ เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งความดำเนินคดีฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปี 2490 และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้มีหรือใช้เลื้อยโซ่ยนต์แตกต่างจากใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ปี 2545 พร้อมนำตัวไปสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งจากข้อมูลเชิงลึกพบว่า นายสุรินเป็นลูกน้องคนสนิทของเสี่ยยุทธเจ้าของสวนยางอีกด้วย






นายอรรถพล เจริญชันษา เปิดเผยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากการยางแห่งประเทศไทยได้ประสานความร่วมมือขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคุมผลผลิตยางพาราในเขตป่า ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า เข้มงวดในการตรวจสอบสวนยางพาของนายทุนที่ผิดกฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากพบข้อมูลว่า กลุ่มทุนที่ถูกดำเนินคดีมีความพยายามเข้ามาหาผลประโยชน์จากสวนยางที่ผิดกฎหมาย โดยใช้วิธีการจ้างคนงานต่างพื้นที่เข้ามากีดน้ำยาง ขณะเดียวกันศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่าได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 1 - 4 และศูนย์การประสานการปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เฝ้าตรวจตราไม่ให้มีการเข้าไปกรีดยางในสวนยางของนายทุกที่ถูกดำเนินคดี





จากข้อมูลของกรมป่าไม้พบว่า มีสวนยางประมาณ 30 ล้านไร่ อยู่ในเขตป่าไม้ 8.5 ล้านไร่ โดยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 5.2 ล้านไร่ คาดว่าเป็นของนายทุนประมาณ 1.2 ล้านไร่ ยึดคืนได้ 150,000 ไร่ ซึ่งจะมีน้ำยาง 360,000 ตัน/ไร่/ปี ที่จะควบคุมไม่ให้ออกสู่ตลาด

ขณะที่จังหวัดเพชรบูรณ์ที่เข้าดำเนินการวันนี้ มีสวนยางพาราในเขตป่าทั้งหมดกว่า 60,000 ไร่ สามารถทวงคืนได้ 23,000 ไร่ มีน้ำยาง 5.8 ตัน/ไร่/ปี ที่จะควบคุมไม่ให้ออกสู่ตลาด





นอกจากนี้ในอนาคต กรมป่าไม้มีแนวคิดจะนำพื้นที่สวนยางพาราของนายทุนที่ยึดได้ เปิดโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์ในรูปแบบป่าชุมชน หรือใช้ประโยชน์ในรูปแบบสหกรณ์ชุมชน หรือจะนำมาเป็นพื้นที่ป่าดังเดิม ส่วนในพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1 ชั้น 2 จะต้องควบคุมโดยเปลี่ยนจากสวนยางพาราที่เป็นพืชเชิงเดียว ให้เป็นป่าแบบผสมผสาน เพื่อให้ป่าต้นน้ำมีความสมดุลในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำ ไม่ใช่สวนยางเพียงอย่างเดียวเท่านั้น.


ขอขอบคุณที่มาข้อมูล ..นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

โพสต์แนะนำ

พบเห็น !! การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โปรดแจ้งสายด่วน ชุด ฉก.พญาเสือ โทร. 097-281-6363

พบเห็นการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า โปรดแจ้งสายด่วน  ชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุ...